การจัดการขยะ คุณแม่บ้านทราบหรือไม่ว่า กำไรสูงสุดของการจัดการภายในบ้าน คุณแม่บ้านจะสามารถหามาได้จากการจัดการขยะธรรมดา ๆ นี่เอง เพราะ ขยะ คือของที่เราไม่อยากได้ไม่อยากมี แต่เราก็มีขยะตลอดมา ได้ทุกวี่ ทุกวัน ของที่เราไม่ต้องการใช้มันอีกแล้วเราไม่อยากเก็บไว้แล้วมันยังทำให้เราต้องเสียเวลามากำจัด มันน่ารำคาญจริง มันไม่มีค่าต่อเราอีกแล้ว มันหมดประโยชน์แล้ว เช่นนั้นจริงหรือ แล้วทำไมจึงจะพูดถือได้ว่า ขยะช่วยสร้างกำไรสูงสุดให้กับเราได้ล่ะ คงเป็นเพราะต้นทุนมันเริ่มมาจากติดลบอยู่น่ะสิ มาดูกันเถอะว่าเราจะได้อะไรตอบแทนมาจากการจัดการขยะที่เป็นระบบบ้าง การจัดการขยะที่เป็นระบบ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ง่าย ๆ คือ
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการแยกขยะ จะช่วยให้การจัดการขยะของคุณแม่บ้านเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ถูกสุขลักษณะ และยังเป็นรายได้พิเศษสำหรับผู้ทำการคัดแยกขยะด้วยการแยกขยะ ถ้ามีขยะปริมาณไม่มากต่อวัน อาจจะแบ่งออกโดยใช้สีของถุงใส่ขยะช่วย หรือใช้วิธีติดสติกเกอร์สีที่กล่อง ช่วยแยกขยะในบ้านออก เป็น 4 ประเภทตามสี ได้แก่
1.สีเขียว คือ ขยะสดหรือขยะเปียก ย่อยสลายง่าย เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ กิ่งไม้ใบไม้
2.สีน้ำเงิน คือ ขยะทั่วไป ไม่รวมเศษอาหาร เช่น ไม้หมูปิ้ง เศษผ้า รองเท้าแตะ ฝอยขัดหม้อ
3.สีเหลือง คือ ขยะรีไซเคิล ซึ่งสามารถนำกลับมาทำประโยชน์ได้อีก มี 5 ประเภท ได้แก่
3.1 กระดาษ เช่น กล่องกระดาษส่งของออนไลน์ หนังสือพิมพ์ (กิโลกรัมละ 2-10บาท)
3.2 พลาสติก เช่น ขวดเพ็ท (กิโลกรัมละ 2-10บาท)
3.3 แก้ว เช่น ขวดเบียร์ ขวดโซดา (กิโลกรัมละ 1-10บาท)
3.4 โลหะ เช่น เหล็ก ทองเหลือง ทองแดง สเตนเลส ตะกั่ว (กิโลกรัมละ 2-150บาท)
3.5 อลูมิเนียม เช่น กระป๋องเบียร์ กระป๋องน้ำอัดลม (กิโลกรัมละ 2-20บาท)
4.สีแดง คือ ขยะอันตราย ไวไฟ ระเบิดได้ มีพิษ มีฤทธิ์กัดกร่อน หรือ เกิดโรคได้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของมีคม เช่น เศษแก๊สในกระป๋อง เศษประทัด ยาฆ่าหญ้า น้ำมันเบรก หมามุ่ย ผ้าซับสิ่งคัดหลั่งผู้ป่วยโรคติดต่อ แบตเตอรี่มือถือ แก้วแตก มีดบิ่น ตะปูงอ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 คือ กำจัดขยะ ขยะในถังสีเหลืองที่รีไซเคิลได้ ให้เรารวบรวมให้ปริมาณมากพอ แล้วโทรเรียกซาเล้งรับซื้อของเก่าแถวบ้านเข้ามารับซื้อไป คุณแม่บ้านที่ทำเป็นประจำจะยืนยันได้เลยว่า สามารถหาเงินจากขยะสิ่งของที่เราไม่ต้องการแล้วได้เป็นเงินหลักร้อยต่อเดือนทีเดียว ส่วนขยะสีอื่น ๆ ให้นำส่งตามระบบกำจัดขยะของชุมชน บ้านใดที่มีพื้นที่นอกบ้านกว้างขวางหน่อย ก็สามารถเปลี่ยนขยะสีเขียวในข้อ 1 ให้กลายเป็นดินปุ๋ยคิดเป็นเงินหลักร้อยได้อีก โดยให้หาพื้นที่ดินที่มีแสงแดดส่องถึง ขุดเป็นหลุมขนาด 1 ลูกบาศก์ฟุตเป็นอย่างต่ำ หรือจะใช้กล่องโฟมที่เก่าชำรุดแล้ว เจาะรูเล็ก ๆ รอบ ๆ กล่องให้อากาศถ่ายเทได้ จากนั้นก็เอาดินใส่รองไว้เป็นชั้นหนาประมาณ 2 นิ้ว
เวลาที่มีขยะสดก็กรองทิ้งน้ำไปเหลือแต่ขยะหมาด เกลี่ยไว้เหนือหน้าดิน แล้วโรยทับด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ แล้วโรยปิดด้วยดิน ตากแดดเอาไว้ วันต่อไปก็หมักแล้วโรยดินปิดทับต่อไปจนกว่าจะเต็มหลุมหรือเต็มกล่อง ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน ก็จะได้ดินปุ๋ยที่มีฮิวมัสสามารถนำไปใช้ปลูกต้นไม้ต่อได้ ไม่ต้องไปซื้อดินถุง ประหยัดเงินได้อีกเป็นร้อย